HYPERDIA & GOOGLE MAP
จะเที่ยวอย่างเซียน ต้องเรียนรู้ไว้!!!
HYPERDIA และ GOOGLE MAP เป็นโปรแกรมที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปญี่ปุ่นด้วยตนเองนิยมใช้กัน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟเป็นหลัก จะนั่งยังไง? ขึ้นที่สถานีไหน? ใช้เวลาเดินเท่าไหร่? เราจะต้องกดเข้าไปในแอพ 2 ตัวนี้เสมอ บางคนประสบการณ์สูงหน่อย แค่ทำการบ้านก่อนมาเที่ยวคร่าวๆ ถึงเวลาก็ค่อยมากดหาเส้นทาง หาขบวนรถไฟก็มี เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่แอพสำหรับมือใหม่หัดเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวเลเวลสูงๆก็ยังต้องใช้
สำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่ เรามาเรียนรู้วิธีการใช้งานทั้ง 2 โปรแกรม เอาแบบไม่ต้องถึงกับรู้ลึกทุกซอกทุกมุม เอาแค่นำไปใช้งานได้จริง ไม่งง ไม่หลงก็พอ
HYPERDIA
เริ่มกันที่โปรแกรม Hyperdia ก่อน โปรแกรม Hyperdia ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ใช้คู่กับระบบรถไฟของญี่ปุ่นโดยเฉพาะ วัตถุประสงค์ในการใช้ก็เพื่อค้นหาขบวนรถไฟและรอบเวลา วิธีการใช้งานให้เข้าไปที่ www.hyperdia.com หรือจะโหลดแอพพลีเคชั่นมาใช้ก็ได้
จากหน้าแรก จะมีให้เราระบุข้อมูลในการค้นหาขบวนรถไฟ ระบุสถานีรถไฟต้นทาง สถานีปลายทาง วัน/เดือน/ปี ที่ต้องการจะเดินทาง รวมไปถึงเวลาที่ต้องการจะออกเดินทางโดยประมาณ
ข้อควรระวัง: เวลาระบุชื่อสถานี ให้ค่อยๆพิมพ์ไปทีละตัวอักษร แล้วมันจะมีชื่อสถานีขึ้นมาให้เราเลือก เราค่อยเลือกตามชื่อที่มันขึ้นมาให้ ที่ให้ทำอย่างนี้เพราะว่า เราจะต้องสะกดตามตัวอักษรตรงกับที่โปรแกรมกำหนด ไม่ใช่แค่สะกดให้ถูก การเว้นช่องไฟหรือใช้สัญลักษณ์ไฮเฟ่น(-) ขั้นตรงกลางระหว่างคำ ก็ต้องตรงตามที่โปรแกรมกำหนดด้วย ถึงจะค้นหาเจอ เพราะฉะนั้นพยายามอย่าพิมพ์เองทั้งคำ ให้เลือกเอาจากตัวเลือกที่มันขึ้นมาให้
ในช่อง TYPE ถ้ากดเข้าไป ก็จะมีตัวเลือกปรากฎขึ้นมาให้ 3 ตัวเลือก
DEPARTURE: คือให้โปรแกรมแสดงผลโดยยึดเอาตามเวลาที่เรากำหนดเป็นเวลาออกเดินทางจากสถานีต้นทาง
ARRIVAL: คือให้แสดงผลโดยยึดเอาเวลาที่เรากำหนดเป็นเวลาที่เราต้องการจะไปถึงสถานีปลายทาง
AVERAGE: คือให้แสดงผลเวลาการเดินทางโดยรวมทั้งหมดโดยคิดเป็นนาที
ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็ตาม มันจะสัมพันธ์กันกับช่องเวลาที่ให้ระบุด้านบน เช่นถ้าเลือก Departure เวลาที่ระบุด้านบนจะเป็นเวลาที่ต้องการออกเดินทาง ในทางกลับกันถ้าเลือก Arrival เวลาที่เราระบุในช่องด้านบนจะเป็นเวลาที่ต้องการจะไปถึงสถานีปลายทาง แนะนำให้เลือกไว้ที่ Departure เวลาที่ต้องการจะออกเดินทาง จะได้ไม่สับสน
ในส่วนของคำว่า MORE OPTION ถ้ากดเข้าไปจะมีตัวเลือกปรากฎขึ้นมาอีกมากมาย จะเป็นการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการค้นหาขบวนรถไฟ ถ้าไม่ต้องการให้โปรแกรมค้นหาขบวนรถไฟประเภทไหนหรือยานพาหนะประเภทใดนอกเนื่องจากรถไฟ ก็ให้เอาเครื่องหมายถูกออก
สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและมักจะถูกใช้บ่อยๆ คือในช่องสี่เหลี่ยมสีเขียว คือขบวนรถไฟชินคันเซน Nozomi/Mizuho/Hayabusa และในช่อง Japan Railway(JR) กับ Private Railway ซึ่งจะสอดคล้องกับการใช้ Pass ต่างๆในการเดินทาง ที่มีข้อจำกัดในการห้ามนั่งรถไฟบางขบวน แตกต่างกันไปในแต่ละ Pass ถ้า Pass ที่เรามีไม่สามารถใช้นั่งรถไฟประเภทไหน เวลาค้นหาเราก็เอาเครื่องหมายถูกออก การค้นหามันก็จะไม่แสดงผลขบวนรถไฟประเภทนั้นขึ้นมาเป็นตัวเลือกให้เรา
ในช่อง ORDER คือการกำหนดการค้นหาขบวนรถไฟโดยให้โปรแกรมแสดงผลตาม
TIME : ตามเวลาการเดินทาง ที่ใช้เวลาเดินทางน้อยที่สุดไล่ไปหามาก
TRANSFER : ตามการเปลี่ยนขบวนรถไฟ น้อยครั้งที่สุดไล่ไปหามาก
MONEY : ตามค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จากน้อยที่สุดไปหามาก
ในช่อง MAX ROUTES เป็นการกำหนดให้โปรแกรมแสดงผลการค้นหาเส้นทางรถไฟ กี่เส้นทางต่อหนึ่งการค้นหาที่จะปรากฎขึ้นมาบนหน้าจอ ค่ามาตราฐานเริ่มต้นจะกำหนดไว้ให้อยู่ที่ 5 เส้นทาง
การอ่านค่าผลการค้นหา
ก่อนที่จะไปอ่านค่าการแสดงผล เรามาทำความรู้จักกับสัญลักษณ์ต่างๆในโปรแกรม Hyperdia กันก่อน จากรูปตัวอย่างด้านล่าง กรอบทางซ้ายมือคือสัญลักษณ์แสดงสถานีต้นทาง สถานีที่ต้องเปลี่ยนขบวน และสถานีปลายทาง รวมไปถึงสัญลักษณ์แสดงสถานะของขบวนรถไฟในระหว่างที่อยู่ในสถานีรถไฟระหว่างทาง
ส่วนกรอบทางขวามือคือสัญลักษณ์ขบวนรถไฟต่างๆในญี่ปุ่น รวมไปถึงการคมนาคมอื่นๆที่นอกเหนือจากรถไฟ ซึ่งประเภทของรถไฟญี่ปุ่นหลักๆจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท มีรถไฟความเร็วสูง(Shinkansen) รถไฟ JR(Japan Railway) และรถไฟเอกชน(รถไฟใต้ดิน Subway ก็เป็นหนึ่งในจำพวกรถไฟเอกชน) นอกจากนี้ รถไฟ JR และรถไฟเอกชนก็ยังแบ่งเป็นรถไฟธรรมดาและรถไฟขบวนด่วนพิเศษอีกด้วย
จากตัวอย่างด้านล่าง สัญลักษณ์ในวงกลมสีแดงแสดงให้เห็นว่ารถไฟขบวน LTD. Exp. NARITA EXPRESS 35 พอวิ่งมาถึงสถานี NARITA AIRPORT TERMINAL 2 เวลา 15:53 ผู้โดยสารไม่ต้องลงจากขบวนรถไฟ ให้นั่งต่อไป รถไฟจะวิ่งย้อนกลับ ออกจากสถานี NARITA AIRPORT TERMINAL 2 เวลา 16:00น. และชื่อของขบวนรถไฟจะเปลี่ยนเป็น JR Sobu/Narita Line Rapid for KURIHAMA มุ่งหน้าไปสถานี NARITA ถึงเวลา 16:09น.
เรามาลองอ่านผลการค้นหากัน เริ่มจากแถวบนสุดตรงกรอบสีแดง แสดงว่าเส้นทางการเดินทางทั้งหมดนี้ใช้เวลาเดินทาง 202 นาที(Take Time) ต้องเปลี่ยนขบวน 1 ครั้ง(Transfer) รวมระยะทางทั้งสิ้น 555.3 กิโลเมตร(Distance)
แถวถัดลงมาตรงกรอบสีเขียว แสดงถึงราคาค่าเดินทางรวมทั้งสิ้น 14,650 เยน(Total) แบ่งเป็นค่าโดยสาร 8,750 เยน(Fare) และค่าธรรมเนียม 5,900 เยน(Seat Fee) ในกรณีที่รถไฟขบวนนั้นมีที่นั่งแบบสำรองที่นั่ง(Reserved Seat) โดยปกติค่าธรรมเนียมจะแสดงผลเป็นที่นั่งที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการสำรองที่นั่งแบบปกติ(Reserved Seat) ไว้ก่อนเสมอ
ในกรอบสีเหลือง แสดงว่ารถไฟขบวน Shinkansen Nozomi 41 จะออกจากสถานี TOKYO ที่ชานชาลาหมายเลข 18 เวลา 14:30น. ใช้เวลาเดินทาง 138 นาที ถึงสถานี KYOTO ที่ชานชลาหมายเลข 13 เวลา 16:48น. ผู้โดยสารต้องมาเปลี่ยนขบวนรถไฟเป็นขบวน JR Nara Line Rapid Service for NARA ที่ชานชาลาหมายเลข 8 เพื่อไปลงที่สถานี NARA ออกเดินทางจากสถานี KYOTO เวลา 17:03น. ใช้เวลาเดินทาง 49 นาที ถึงสถานี NARA เป็นเวลา 17:52น.
ในกรอบสีบานเย็น ถ้ากดเข้าไปจะมีตัวเลือกขึ้นมาให้เราเลือกว่าจะต้องการเลือกเป็นที่นั่งแบบสำรองที่นั่ง(Reserved Seat) หรือไม่สำรองที่นั่ง(Unreserved Seat) หรือแบบที่นั่งชั้น 1(Green Seat) ถ้าเราเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีผลกับการเปลี่ยนแปลงของราคาค่าโดยสารรวม (การสำรองที่นั่งจะมีเฉพาะขบวนรถ Shinkansen และขบวนด่วนพิเศษ)
อธิบายแค่นี้คงพอจะเข้าใจกันนะ หลังจากมีการแสดงผลแล้ว ถ้าต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการค้นหา ก็สามารถทำได้ โดยเลื่อนลงมาด้านล่างสุด จะเห็นรูปแบบการกำหนดเงื่อนไขเหมือนในหน้าแรกที่ทำการค้นหา เราสามารถแก้ไขและค้นหาเพิ่มเติมได้จากตรงนี้
GOOGLE MAP
โปรแกรม Google Map เป็นโปรแกรมที่ใช้ค้นหาสถานที่และช่วยนำทางให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง จะว่าไป Google Map ถูกใช้แพร่หลายไปทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศญี่ปุ่น ผมเองก็ใช้ Google Map ช่วยค้นหาสถานที่เที่ยวในญี่ปุ่นทุกๆครั้งที่มาถึง ซึ่งมันได้ผลดีทีเดียว ฐานข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นใน Google Map ถือว่าค่อนข้างละเอียดพอสมควร มาลองดูวิธีการใช้โปรแกรม Google Map กัน
พอเข้ามาหน้าแรกของโปรแกรม Google Map ให้เลือกที่สัญลักษณ์วงกลมสีน้ำเงินที่มีคำว่า "ไป" ตรงมุมขวามือด้านล่าง เพื่อระบุเส้นทาง
พอกดเข้ามาจะมีให้เราใส่ "เลือกจุดเริ่มต้น" และ "เลือกจุดหมาย" จุดเริ่มต้นเราสามารถระบุเป็นสถานที่เฉพาะ หรือเปิดเป็น GPS ให้โปรแกรมค้นทางตำแหน่งที่เราอยู่ ณ ปัจจุบันก็ได้ ในกรณีที่ต้องการให้จุดเริ่มต้นเป็นตำแหน่ง ณ ปัจจุบัน ให้กดเข้าไปที่ "ตำแหน่งของคุณ" แล้วเปิด GPS จากนั้นตรงช่อง "เลือกจุดเริ่มต้น" ก็จะกลายเป็นตำแหน่งที่เราอยู่ ให้ระบุจุดหมายปลายทางที่ต้องการ และเลือกวิธีการเดินทางว่าต้องการเดินทางด้วยวิธีไหน รถยนต์ รถสาธารณะ เดินเท้า หรือจะใช้บริการ Uber
ในกรณีที่เราพิมพ์ชื่อสถานที่ลงไป โปรแกรมมันจะพยายามเดาชื่อสถานที่ที่เราต้องการขึ้นมาให้เป็นตัวเลือก
ข้อควรระวัง: เวลาระบุสถานที่ ให้ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าใช่สถานที่ที่เราจะไปหรือป่าว เพราะในบางกรณี สถานที่บางที่ใช้ชื่อเหมือนกันเป๊ะ แต่ที่อยู่เป็นคนละที่ บางที่อยู่คนละจังหวัดก็มี เพราะฉะนั้นถ้าไม่แน่ใจให้ตรวจสอบจากที่อยู่ หรือเวลาระบุสถานที่ให้พิมพ์ที่อยู่ลงไปตรงๆให้ครบถ้วน ถ้าโปรแกรมมันหาเจอ มันไม่ผิดแน่นอน เพราะมันหาตำแหน่งจากที่อยู่ไม่ได้หาจากชื่อเฉพาะของสถานที่
เราสามารถกำหนดวันเวลาที่จะเดินทาง โดยกดเข้าไปที่ "ออกเดินทาง" ในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดง แล้วเข้าไปเลือกวันที่ที่ต้องการ นอกจากนี่เรายังสามารถตรวจสอบพยากรณ์อากาศในวันที่กำหนดได้โดยกดไปที่สัญลักษณ์ในกรอบสี่เหลื่ยมสีเขียว
จากตัวอย่างด้านล่าง เราลองกำหนดเส้นทางการเดินทางจากตึกโตเกียว สกายทรี ไปสวนอุเอะโนะ เลือกวิธีการเดินทางโดยรถสารธารณะ Google Map จะแสดงทางเลือกขึ้นมาให้ มีทั้งวิธีเดินทางโดยรถไฟและรถเมล
ลองเลือกเข้ามาสักอันนึง โปรแกรมจะแสดงวิธีการเดินทางโดยละเอียด ขึ้นรถที่ไหน? เดินไปยังไง? นั่งรถสายอะไร? Google Map ทำออกมาให้เราเข้าใจค่อนข้างง่าย
ความเจ๋งของ Google Map อยู่ที่พอลงจากรถบัสหรือออกจากสถานีรถไฟแล้ว จะเดินไปต่อยังไงให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าเราเปิด GPS ไว้โปรแกรมมันจะนำทางเราไปเอง
ใน Google Map เราสามารถกำหนดเงื่อนไขในการค้นหาได้เหมือนกัน เช่น ต้องการให้โปรแกรมค้นหาเฉพาะการเดินทางโดยรถไฟ หรือรถประจำทาง หรือจะกำหนดให้หาเส้นทางที่ต้องเดินเท้าใกล้ที่สุด เป็นต้น การตั้งค่าให้กดไปที่สัญลักษณ์ไข่ปลาสามจุดตรงมุมบนขวา แล้วเลือกคำว่า "ตัวเลือกเส้นทาง" และกำหนดเงื่อนไขตามที่ต้องการ
วางแผนการเดินเที่ยวด้วย GOOGLE MAP
การเที่ยวแบบ Backpack วิธีการเที่ยวที่ดีที่สุดคือการเดิน บางครั้งสถานที่ที่เราจะไป จากจุด A ไปจุด B ไปจุด C มันอยู่ไม่ไกลกัน สามารถเดินถึงกันได้ โดยปกติผมจะเช็คว่าสถานที่แต่ละจุดอยู่ใกล้กันมั้ย? เดินถึงกันได้หรือป่าว? ผมจะเอาสถานที่แต่ละจุดมาปักมุดในแผนที่ Google Map ดู ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์มากในการวางแผนการเดินเที่ยวในเมือง
วิธีการคือกำหนดสถานที่ในจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทาง แล้วเลือกที่สัญลักษณ์รูปคนเดิน โปรแกรมจะแสดงให้เห็นว่าถ้าจะเดินจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่โดยประมาณ และยังสามารถเพิ่มจุดหมายปลายทางได้มากกว่า 1 จุด โดยการเลือกไปที่สัญลักษณ์ไข่ปลาสามจุดด้านบนขวามือ และเลือกคำว่า "เพิ่มจุดแวะพัก" จากนั้นก็ให้ระบุสถานที่เพิ่มเข้าไป การแสดงผลการค้นหาจะทำให้เราเห็นว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการเดินเท้าจากจุด A ไปจุด B-C-D.....? ทั้งหมดเป็นระยะทางเท่าไหร่? เดินไหวมั้ย? เราเดินอ้อมมั้ย? นอกจากนั้นเรายังสามารถสลับสถานที่แต่ละจุดเพื่อจัดลำดับการเดินได้อย่างเหมาะสม ไม่อ้อมไปอ้อมมา
จากตัวอย่างด้านล่าง ผมลองวางแผนการเดินเที่ยวในโตเกียวในแถบชิบุย่า-ฮาราจูกุ สถานที่ที่จะไปเริ่มจากสถานี Harajuku -- ถนน Takeshita dori -- ถนน Omotesando -- ย่าน Shibuya -- อนุเสาวรีย์สุนัข Hachiko -- ศาลเจ้า Meiji Jingu -- และกลับมาขึ้นรถไฟที่สถานี Harajuku จะเห็นได้ว่าผมสามารถวางแผนการเดินเป็นวงกลมและกลับมาขึ้นรถไฟที่จุดเดิม ซึ่งผมสลับจัดเรียงสถานที่ไม่ให้เดินอ้อมไปอ้อมมา เก็บทุกสถานที่ที่อยากไป ทั้งหมดเป็นระยะทาง 4.1 กม. ถ้าเดินผ่านโดยไม่แวะอะไรเลยจะใช้เวลาเดิน 49 นาที แค่นี้ก็สามารถจะเห็นภาพแล้วว่าเราเดินไหวมั้ย? น่าจะใช้เวลาเที่ยวในแถบนี้ประมาณกี่ชั่วโมง?
จริงๆแล้วโปรแกรมทั้ง 2 ตัวนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานในวัถตุประสงค์ที่ต่างกัน Hyperdia จะถูกออกแบบมาให้ใช้ค้นหาขบวนรถไฟในเครือข่ายรถไฟของญี่ปุ่น ส่วน Google Map จะถูกใช้ในการค้นหาสถานที่และนำทางไปยังสถานที่นั้น แต่ก็มีหลายคนนิยมใช้ Google Map ในการค้นหาเส้นทางรถไฟเช่นกัน งั้นเรามาดูกันว่า Hyperdia และ Google Map มีข้อดีข้อเสียในการใช้ค้นหาเส้นทางรถไฟยังไง
-ใน Hyperdia จะแสดงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไว้ให้โดยละเอียด ค่าโดยสารของรถไฟแต่ละประเภท รวมไปถึงค่าจองที่นั่งบนรถไฟ ในขณะที่ Google Map จะแจ้งค่าใช้จ่ายไว้แค่คร่าวๆ
-ใน Hyperdia เวลาค้นหารอบรถไฟเราสามารถกำหนดเงื่อนไขได้ เช่นจะไม่นั่งรถไฟขบวน Nozomi หรือจะไม่นั่งรถไฟสายเอกชน ในขณะที่ Google Map ไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขลักษณะเช่นนี้ได้
-ใน Hyperdia จะแสดงรอบรถไฟแต่ละรอบให้ดูง่ายและชัดเจนกว่าใน Google Map นั้นเป็นเพราะ Hyperdia ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้กับระบบเครือข่ายรถไฟของญี่ปุ่นโดยตรง ต่างจาก Google Map การเช็ครอบรถไฟอาจจะไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก
-จุดเด่นชัดๆของ Google Map คือมี GPS นำทาง ทำให้เราสามารถเห็นความเคลื่อนไหวของรถไฟขณะที่วิ่ง ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถเช็คตำแหน่งได้ว่า ปัจจุบันเราอยู่ระหว่างหรือกำลังจะถึงสถานีไหนแล้ว (เวลานั่งรถไฟนานๆแล้วเผลอหลับไป อันนี้จะมีประโยชน์มาก)
-การจะใช้โปรแกรม Hyperdia เราจำเป็นต้องรู้ชื่อสถานีต้นทางและสถานีปลายทางในการค้นหาขบวนรถไฟ แต่ใน Google Map ถ้าเรากำหนดเป็นสถานที่ Google Map จะทำการหาเส้นทางให้เราเองว่าจะต้องเดินทางไปยังไง จากตัวอย่างด้านล่าง เรากำหนดจุดเริ่มต้นที่สวนอุเอโนะ จะเดินทางไปวัดนาริตะซัง Google Map จะค้นหาวิธีการเดินทางให้ ต้องนั่งรถไฟขบวนไหน? จากสถานีอะไร? ไปลงที่สถานีอะไร? และออกจากสถานีรถไฟแล้วจะต้องเดินไปยังไง พูดได้ว่ามันค่อยบอกเราตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางเลย
สำหรับผม ผมใช้ทั้งสองโปรแกรมในการเดินทางทุกครั้ง ตั้งแต่เริ่มหัดเที่ยวเองใหม่ๆ จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังต้องพึ่งพาทั้งสองโปรแกรมนี้อยู่ ก็หวังว่าบทความนี้พอจะมีประโยชน์ทำให้หลายๆคนได้รู้จักและเข้าใจการใช้งานเบื้องต้น และสามารถนำไปใช้งานได้จริงนะครับ
ปล.ชื่นชอบบทความ ช่วยกดไลท์กดแชร์ Facebook Fan Page ด้านล่างสุด จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น